ทำความรู้จัก เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่มีความเสี่ยงทั้งคุณแม่ และลูกในท้อง

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นมาก่อนการตั้งครรภ์ หรือมาเป็นในช่วงที่ตั้งครรภ์ ก็ล้วนส่งผลเสียต่อทั้งคุณแม่และเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในท้องทั้งสิ้น โดยโรคนี้เกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แล้วร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ ซึ่งก็จะส่งให้ร่างกายทำงานผิดปกติได้หลายอย่าง

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอาการอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

โดยส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจจะมีการกระหายน้ำมากปิดปกติ และปัสสาวะบ่อยขึ้น ส่วนสาเหตุก็เป็นได้จากหลายปัจจัย เช่น ด้านกรรมพันธุ์ ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ปัจจัยด้านประวัติการคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป คลอดบุตรที่พิการโดยไม่ทราบสาเหตุ เคยมีประวัติเด็กเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ รวมไปถึงคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องความอ้วน เป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่ส่งผลต่อคุณแม่

หากเป็นเบาหวานในช่วงที่ตั้งครรภ์ความเสี่ยงที่คุณแม่อาจจะเจอ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะเสื่อมของระบบหลอดเลือด ตา ไต ปลายประสาท การเกิดครรภ์เป็นพิษ รวมไปถึงการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ

สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์

คุณแม่ที่เป็นเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ลูกในครรภ์มีร่างกายที่ใหญ่ผิดปกติซึ่งอาจจะเป็นอันตรายตอนคลอด อาจส่งผลให้แท้งบุตรหรือเสียชีวิตในครรภ์ได้ ในส่วนของหลังคลอดทารกอาจจะมีอาการไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อช่วงแรกคลอด และเสี่ยงที่มีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ตัวเหลือง ระดับเกลือแร่ในร่างกายอาจมีความผิดปกติได้

วิธีลดความเสี่ยงการเป็น เบาหวานขณะตั้งครรภ์

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้มากที่สุด โดยแพทย์จะทำการตรวจน้ำตาลในเลือดในตอนที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ และจะคัดกรองเบาหวานเมื่ออายุครรภ์ได้ 24 – 28 สัปดาห์ รวมไปถึงประเมินภาวะสุขภาพของทั้งมารดา และทารก หากพบว่าน้ำตาลในเลือดสูงก็จะมีการรักษาที่เหมาะสม

ส่วนการดูแลตัวเองของคุณแม่ต้องทำการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการทานแป้ง และน้ำตาลเน้นการทานโปรตีน มีการออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำตาลในเลือดยังสูงอยู่แพทย์อาจจะให้ฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นแล้วจะหายไหม

ในช่วงหลังคลอดบุตร จะมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อดูว่าระดับน้ำตาลกลับมาเป็นปกติหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะทำการวินิจฉัย และทำการรักษาต่อไป

จะเห็นว่าหากเป็น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลเสียหลายอย่างดังนั้นควรดูแลร่างกายให้พร้อมตั้งแต่เริ่มวางแผนที่จะมีลูกเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง อีกทั้งยังทำให้ทั้งคุณแม่ และลูกในครรภ์มีสุขภาพที่ดีทั้งในช่วงตั้งครรภ์ และหลังคลอด