การใช้ชีวิตประจำวันนั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็ง ทั้งจากการรับประทานอาหาร และมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า ควันพิษจากรถ ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ควันบุหรี่มือสองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม โดยสารก่อมะเร็งที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันมีดังนี้
ควันบุหรี่มือสอง
ควันบุหรี่มือสอง คือ ควันบุหรี่ที่พ่นออกมาทางลมหายใจของผู้ที่สูบบุหรี่ และควันที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ปลายมวนบุหรี่ ควันบุหรี่จะประกอบไปด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด มีอยู่ประมาณ 70 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง ที่สามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมง
ซึ่งสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมีที่อยู่ในใบยาสูบ สารเคมีที่ใช้ในการปรุงแต่งรสและกลิ่นในกระบวนการผลิต และจากกระดาษสำหรับใช้ในการมวนบุหรี่ โดยตัวอย่างของสารก่อมะเร็งที่อยู่ในบุหรี่ เช่น
- ฟอร์มาลดีไฮด์ สารก่อมะเร็งนี้จะส่งผลกระทบต่อเยื่อบุจมูก เยื่อบุทางเดินหายใจ และดวงตา
- เบนซีน เป็นสารที่พบในยาฆ่าแมลงที่ติดมากับใบยาสูบ
- พอโลเนียม-210 เป็นสารกัมมันตรังสีที่ส่งผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด
- แคดเมียม สารโลหะนี้จะเป็นอันตรายต่อสมอง ตับ ไต และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งอัณฑะและมะเร็งปอด
สารก่อมะเร็งที่พบในอาหาร เช่น
- สาร PAHs และ HCAs สำหรับสาร PAHs (Polycyclic aromatic hydrocarbons) และสาร HCAs (Heterocyclic amines) จะพบสารเหล่านี้ได้จากอาหารประเภทปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม โดยความร้อนจะทำปฏิกิริยากับไขมันในเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดควันที่มีพิษขึ้น หากรับประทานอาหารปิ้งย่างบ่อยๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะมีการสะสมของสารพิษจนทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม
- สารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) เป็นสารพิษที่พบในอาหารทอดที่ใช้ความร้อนสูง โดยน้ำมันที่ใช้ทอดหากมีการใช้เกินสองครั้งก็อาจทำให้ได้รับสารอะคริลาไมด์มากขึ้น หากสะสมในร่างกายมากก็จะมีความเสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร และหากสูดดมไอของน้ำมันสำหรับทอดอาหารบ่อยๆ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคมะเร็งปอดมากขึ้น
มลพิษทางอากาศ
ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์บนท้องถนนที่มีมากขึ้น การเผาป่า มลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม สาเหตุเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และสารพิษต่างๆในอากาศ หากเราได้รับสารก่อมะเร็งที่อยู่ในรูปแบบของฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปเป็นประจำในระยะเวลา 10-20 ปี อาจทำให้เป็นถุงลมโป่งพอง หรืออาจจะทำให้เกิดภาวะของมะเร็งปอดได้
หากลดการรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงทำให้ได้รับสารก่อมะเร็ง อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ และหมั่นทำให้ร่างกายแข็งแรงโดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หากทำได้แบบนี้ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้