เทคนิคการดื่มน้ำอย่างมีคุณภาพ ดีต่อร่างกาย

ร่างกายของเรามี “น้ำเป็นองค์ประกอบหลักคิดเป็น 60-70 % ของน้ำหนักตัว หากตรวจเลือดจะพบน้ำกว่า 80 % ดังนั้น การดื่มน้ำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องเข้าใจการดื่มน้ำที่ถูกต้องและได้คุณภาพ

เทคนิคการดื่มน้ำให้ได้คุณภาพ 

1.ปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการ 

ควรดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร จึงจะมีปริมาณพอเพียงต่อร่างกาย  อาจได้จากน้ำดื่ม 1.0-1.5 ลิตร จากอาหาร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ 1.0-1.5 ลิตร หากอากาศร้อนจัดควรเพิ่มปริมาณน้ำมากขึ้น ในผู้สูงอายุต้องใส่ใจเรื่องน้ำเพราะกลไกการกระหายน้ำเสื่อมลง ความรู้สึกกระหายน้ำลดลง  

2.กินผัก ผลไม้ให้มาก  

ในผัก และผลไม้ มีส่วนประกอบของน้ำมากกว่าร้อยละ 90  ดังนั้น กินผักผลไม้ 500 กรัม เท่ากับดื่มน้ำ 400 ซีซี 

3.ไม่ดื่มเครื่องดื่มเพื่อดับกระหาย 

การดื่มเครื่องดื่มเพื่อช่วยดับกระหาย จะพบว่า ยิ่งดื่มยิ่งกระหาย ถ้าเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมันและมีแคลอรีสูง การดื่มปริมาณมาก บ่อยๆ จะเกิดโทษ เช่น ทำให้เป็นเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง เกิดพิษสะสมในร่างกาย  

4.ไม่กินน้ำแข็งเพื่อดับกระหาย 

การกินน้ำแข็งเพื่อดับกระหายจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ มีความเย็นในตัวมากเกินไป ทำให้พลังชีวิตอ่อนแอ และยังเป็นอันตรายต่อระบบการย่อยอาหารในระยะยาว  

5.ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากหลังกินอาหาร  

การดื่มน้ำในระหว่างมืออาหารหรือดื่มน้ำมากหลังทานอาหารเสร็จเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะน้ำจะไปเจือจางความเข้มข้นของน้ำย่อย ทำให้การย่อยอาหารไม่ดี เสี่ยงเป็นโรคกระเพาะ 

6.อย่าปล่อยให้กระหายน้ำเต็มที่ 

อาการกระหายน้ำแสดงว่า ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ถ้ากระหายน้ำเต็มที่แสดงว่ามีภาวะขาดน้ำของร่างกาย หรือเซลล์รุนแรง จะทำให้มีของเสีย สารพิษตกค้างอยู่มาก ไม่สามารถระบายขับทิ้งได้ ทำให้ระบบร่างกายอ่อนแอของ เป็นอันตรายต่อร่างกาย 

7.ดื่มน้ำมากไปไม่ดี 

มีการแนะนำ การดื่มน้ำเพื่อสุขภาพ เช่น ดื่มครั้งเดียวปริมาณมากๆ ตอนตื่นนอน เพื่อขับล้างของเสียในร่างกาย ร่างกายคนเราเมื่อขาดน้ำ ปัสสาวะจะน้อย เมื่อน้ำเกินปัสสาวะ จะมาก โดยอาศัยการทำงานของไตเป็นตัวควบคุม คนปกติที่ไม่ขาดน้ำ ถ้าได้รับน้ำปริมาณมาก ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ทำให้เลือดเจือจาง แรงดันในการดูดซึมของสารอาหารสู่เซลล์น้อยลง ปริมาณน้ำในเซลล์มากขึ้น ทำให้เซลล์บวมน้ำ เกิดพิษต่อเซลล์ เกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ถ้าเซลล์บวมน้ำมากขึ้นจะมีอาการง่วงนอน กระตุก มองไม่ชัด หัวใจเต้นช้า หายใจช้า เป็นลม เป็นต้น ดังนั้น การดื่มน้ำจึงต้องพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป  

8.ไม่ควรดื่มน้ำเร็วๆ  

บางคนกระหายน้ำ มักจะรีบดื่มน้ำทันที พฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจอ่อนแรงในระยะยาว เพราะปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วทำให้ไตควบคุมการขับน้ำไม่ได้ทันทีทันใด ก็จะมีปริมาณน้ำในหลอดเลือดมากแล้วก็ไปเพิ่มภาระการสูบฉีดของหัวใจ